รายงานผลการประเมิน

ปทุมธานี

/ กลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล
น้ำหนัก
100
คะแนนการประเมิน
สรุปผลการประเมิน
-

รายละเอียดตัวชี้วัด

คำอธิบาย :

การพัฒนาเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ถือเป็นเครื่องมือหลักในการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและอุตสาหกรรม และเป็นการดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ประเทศที่มุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่มีความสมดุลอย่างยั่งยืน

แนวคิดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) เน้นการพัฒนาพื้นที่ที่มี
การพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเหนี่ยวนำให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโตไปด้วยกัน
ภายใต้สภาวะแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีโดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
กายภาพ และการบริหารจัดการในพื้นที่ให้เกิดความสมดุลในทุกมิติ โดยมีเป้าหมายหลักของการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมโดยสร้างความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ทำให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างเป็นสุขและยั่งยืน

เกณฑ์การประเมินความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ครอบคลุม 5 มิติ 20 ด้าน (มิติกายภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารจัดการ) โดยการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 1 การมีส่วนร่วม (Engagement) การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการวางแผน ดำเนินการตามแผน ติดตามประเมินผล และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

ระดับที่ 2 การส่งเสริม (Enhancement) การส่งเสริมการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้รองรับต่อแผนการพัฒนาที่ร่วมกำหนดไว้ โรงงานอุตสาหกรรมและประชาชนในพื้นที่มีการเปิดบ้านสาน
สัมพันธ์กัน (Open House)

ระดับที่ 3 ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร (Resource Efficiency)  โรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและพลังงานของให้คุ้มค่า จัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดและป้องกันมลพิษ เกิดความเชื่อมั่นความไว้วางใจให้กับชุมชน

ระดับที่ 4 การพึ่งพาอาศัย (Symbiosis) โรงงานอุตสาหกรรมมีการพึ่งพาอาศัยกัน รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมไปส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่  

ระดับที่ 5 เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม (Happiness) เมืองต้นแบบมีเศรษฐกิจดี สิ่งแวดล้อมดี สังคม
มีความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความสุขและอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน

กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับจังหวัดจัดทำ
แผนแม่บทและแผนปฏิบัติการการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 15 จังหวัด 18 พื้นที่ (จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครปฐม ปทุมธานี ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และสงขลา) และดำเนินโครงการพัฒนาและยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เพื่อตรวจประเมินรับรองเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่เป้าหมายตามเกณฑ์การพัฒนาส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมายให้มีการจัดการทรัพยากร พลังงาน สิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัย และมีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-DIW) และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นความไว้วางใจให้กับชุมชน 

เป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมนิเวศ

ปี 2557 – 2560 :   จัดทำแผนแม่บท แผนปฏิบัติการการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 15  จังหวัด (18 พื้นที่) และเกณฑ์การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมนิเวศ

ปี 2561 - 2564  :        การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ 1 = 18 พื้นที่ 
ระดับ 2 = 18 พื้นที่ ระดับ 3 = 5 พื้นที่ ระดับ 4 = 3 พื้นที่ และถอดบทเรียนเกณฑ์การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 15 จังหวัด 18 พื้นที่ และระบบตรวจประเมินเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ปี 2565            :    1) การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะที่ 1 ใน 15 จังหวัด 18 พื้นที่ ผ่านเกณฑ์การประเมินฯ ระดับที่ 3

                             2) การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะที่ 2
ใน 11 จังหวัดเดิม และ 4 จังหวัด SEZ ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร สระแก้ว ตาก และตราด รวม 15 พื้นที่ได้รับการเตรียมความพร้อมและออกประกาศพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะ 2

                            3) การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะที่ 3
ใน 20 จังหวัดใหม่ ได้รับการเตรียมความพร้อมและแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับจังหวัด 

ปี 2566 – 2570  :    1) ปี 2570 การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะ
ที่ 1 ใน 15 จังหวัด 18 พื้นที่ ผ่านเกณฑ์การประเมินฯ ระดับที่ 5 และประเทศไทยมีต้นแบบ “เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม”

                             2)   ปี 2570 การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะ
ที่ 2 ใน 11 จังหวัดเดิม และ 4 จังหวัด SEZ  ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร สระแก้ว ตาก และตราด 15 พื้นที่ ผ่านเกณฑ์การประเมินฯ ระดับ 3

                             3) ปี 2570 การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะ
ที่ 3 ใน 20 จังหวัดใหม่ 20 พื้นที่ และผ่านเกณฑ์การประเมินฯ ระดับ 1

เกณฑ์การประเมิน : กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดค่าเป้าหมาย

ประเด็นการประเมิน ผลการดำเนินงาน
ระดับ 2 (ขั้นต้น) ผ่าน
ระดับ 3 (ขั้นสูง) ผ่าน

รายละเอียดตัวชี้วัด

คำอธิบาย  :

พิจารณาจากสัดส่วนของปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนของจังหวัดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้รับ
การจัดการอย่างถูกต้อง เปรียบเทียบกับปริมาณขยะมูลฝอยของจังหวัดที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณ
พ.ศ. 2565

ปริมาณขยะมูลฝอยที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง หมายถึง ผลรวมของปริมาณขยะมูลฝอยที่นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง ที่นำไปกำจัดเบื้องต้น และที่นำกลับมาใช้ประโยชน์

ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 หมายถึง ปริมาณขยะมูลฝอยซึ่งคำนวณจากอัตราการเกิดขยะมูลฝอยของกรมควบคุมมลพิษ หรือของพื้นที่ คูณด้วยจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร ปี 2564 (โดยใช้ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564) และคูณด้วยจำนวนวัน

อัตราการเกิดขยะมูลฝอย
-  เทศบาลนคร                    0.00189    ตัน/คน/วัน
- เทศบาลเมือง                   0.00115    ตัน/คน/วัน
- เทศบาลตำบล                 0.00102    ตัน/คน/วัน
- เมืองพัทยา                      0.00390    ตัน/คน/วัน
- องค์การบริหารส่วนตำบล   0.00091    ตัน/คน/วัน

ปริมาณขยะมูลฝอยที่นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง หมายถึง ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีการและข้อกำหนดในกฎกระทรวง สุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป พ.ศ. 2560 หรือประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2560 ได้แก่ การฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล
การหมักทำปุ๋ยหรือก๊าซชีวภาพ การกำจัดด้วยพลังงานความร้อน การแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงหรือพลังงาน การกำจัดแบบผสมผสาน หรือวิธีอื่นตามที่กระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือ คณะกรรมการจังหวัดให้คำแนะนำ

ปริมาณขยะมูลฝอยที่กำจัดเบื้องต้น หมายถึง ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำไปกำจัดด้วยการเทกองที่มีการควบคุม ขนาดน้อยกว่า 50 ตัน/วัน

ปริมาณขยะมูลฝอยที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ หมายถึง ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ผ้าป่ารีไซเคิล กิจกรรม Big Cleaning Day กิจกรรมทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ กิจกรรมรับซื้อของเก่าสีเขียว กิจกรรมธนาคารขยะชุมชน ธนาคารขยะโรงเรียน ศูนย์รีไซเคิลชุมชน กิจกรรมขยะแลกไข่ ขยะแลกของ กิจกรรมตลาดนัดมือสอง เป็นต้น รวมทั้งปริมาณขยะรีไซเคิลที่มีการคัดแยก ที่สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยและสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอย

สูตรคำนวณ :

(ปริมาณขยะมูลฝอยของจังหวัดที่กำจัดอย่างถูกต้อง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ตัน) +ปริมาณขยะมูลฝอยของจังหวัดที่กำจัดเบื้องต้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ตัน) +ปริมาณขยะมูลฝอยของจังหวัดที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ตัน)) x 100/ ปริมาณขยะมูลฝอยของจังหวัดที่เกิดขึ้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ตัน)

ประเด็นการประเมิน ผลการดำเนินงาน
ร้อยละของปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 50.17 (ร้อยละ)

รายละเอียดตัวชี้วัด

คำอธิบาย :

พิจารณาจากการซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ระหว่างการท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้งเพื่อตนเองหรือเป็นของฝาก ซึ่งครอบคลุมรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย (ผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ที่มิใช่ถิ่นที่อยู่ปกติ) ทั้งแบบพักค้างคืน และเช้าไป - เย็นกลับ

สูตรคำนวณ :

รายได้จากการท่องเที่ยวของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย

= รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทย (ค้างคืน) + รายได้จากนักทัศนาจรชาวไทย (ไม่ค้างคืน)

= (จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย x จำนวนวันพักเฉลี่ย x ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวต่อวัน) +
(จำนวนนักทัศนาจร x ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวต่อวัน)

เกณฑ์การประเมิน : อ้างอิงจากข้อมูลผลการดำเนินงานของจังหวัด

ประเด็นการประเมิน ผลการดำเนินงาน
รายได้จากการท่องเที่ยวของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 1,462.21 (ล้านบาท)

รายละเอียดตัวชี้วัด

คำอธิบาย :

พิจารณาจากการสำรวจสภาพปัญหายาเสพติดในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน จากระบบสารสนเทศยาเสพติดจังหวัด (NISPA) ครั้งที่ 2 ของปี (ห้วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนเมษายน – สิงหาคม 2565)

หมู่บ้าน/ชุมชนที่ไม่พบปัญหายาเสพติด หมายถึง หมู่บ้าน/ชุมชน ที่ไม่พบผู้เสพและไม่มีผู้ค้ายาเสพติด

หมู่บ้าน/ชุมชน หมายถึง หมู่บ้านและชุมชนที่ประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ภายใต้คำสั่งของกระทรวงมหาดไทย

เกณฑ์การประเมิน : อ้างอิงจากข้อมูลผลการดำเนินงานของจังหวัด

ประเด็นการประเมิน ผลการดำเนินงาน
ร้อยละของหมู่บ้าน/ชุมชนที่ไม่พบปัญหายาเสพติด 74.94 (ร้อยละ)

รายละเอียดตัวชี้วัด

คำอธิบาย :

การให้บริการประชาชนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน โดยการให้บริการของหน่วยงานของรัฐด้านต่าง ๆ เช่น การเสียภาษี การชำระค่าธรรมเนียม การขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐ ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อ ณ หน่วยงานราชการ

จังหวัดคัดเลือกงานบริการที่ให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์จาก 325 งานบริการ ที่สำนักงาน ก.พ.ร. รวบรวมไว้ (สืบค้นได้จาก https://www.opdc.go.th/content/NjcxMg) หรืองานบริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานจัดทำขึ้น เช่น การสมัครสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี (กรมการพัฒนาชุมชน) การตรวจสอบรายละเอียดผู้ไม่ไปใช้สิทธิและผู้แจ้งเหตุจำเป็นไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (กรมการปกครอง) เป็นต้น โดยพิจารณาเลือกงานบริการตามความเหมาะสมกับความต้องการของพื้นที่ มาเพิ่มช่องทางการให้บริการประชาชนที่อำเภอเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการ

อำเภอต้องเปิดให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) อย่างน้อย 8 งานบริการ

กลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการ ได้แก่ ประชาชน หน่วยงานราชการ ภาคธุรกิจ และองค์กร

กำหนดตัวชี้วัด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 จังหวัดที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ได้เปิดให้บริการประชาชนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) จำนวน 3 อำเภอ อย่างน้อย 5 งานบริการแล้วในปีงบประมาณ
พ.ศ. 2564 ให้อำเภอเหล่านั้นขยายงานบริการเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 8 งานบริการ ประกอบกับพิจารณาจำนวนมาผู้รับบริการ e-Service ในภาพรวมของจังหวัด (นับรวมทุกอำเภอที่เปิดให้บริการ)

                   กรณีที่ 2 จังหวัดที่ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นปีแรก ให้เปิดให้บริการประชาชนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) อย่างน้อย 8 งานบริการ และพิจารณาจำนวนอำเภอที่เปิดให้บริการตามที่กำหนด

เกณฑ์การประเมิน : สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนดค่าเป้าหมาย

ประเด็นการประเมิน ผลการดำเนินงาน
มีจำนวน 3 อำเภอที่เปิดให้บริการ e-Service อย่างน้อย 8 งานบริการ ผ่าน
จำนวนผู้รับบริการ 185 (คน)

รายละเอียดตัวชี้วัด

คำอธิบาย :

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 เรื่อง ข้อเสนอหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพิ่มเติม ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 50 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐให้มี
การปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับบริบทตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และเป้าหมายการพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0 ที่มุ่งเน้นระบบราชการที่เปิดกว้างเชื่อมโยงกัน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเป็นองค์การที่มีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย โดยกำหนดให้สำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมให้หน่วยงานภาครัฐเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพิ่มเติม และแนวทางการพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0 โดยให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการจัดทำแผน/แนวทางพัฒนาให้สอดคล้องตามหลักเกณฑ์ฯ เพิ่มเติม และการพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0 รวมทั้งให้สำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการตรวจรับรองหน่วยงานภาครัฐในการเป็นระบบราชการ 4.0

PMQA 4.0 คือ เครื่องมือการประเมินระบบการบริหารของส่วนราชการในเชิงบูรณาการ เพื่อเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ของส่วนราชการกับเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐพัฒนาไปสู่ระบบราชการ 4.0

เพื่อประเมินความสามารถในการบริหารจัดการภายในหน่วยงานและความพยายามของส่วนราชการในการขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมายอย่างยั่งยืน

การประเมินสถานะของหน่วยงานภาครัฐในการเป็นระบบราชการ 4.0 มี 3 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1  การตรวจพิจารณาจากเอกสารการสมัครเบื้องต้น (หากได้ 400 คะแนนขึ้นไป จะผ่านไปประเมินในขั้นตอนที่ 2)

ขั้นตอนที่ 2  การตรวจเอกสารรายงานผลการดำเนินการพัฒนาองค์การสู่ระบบราชการ 4.0 (Application Report) (หากได้ 400 คะแนน จะผ่านไปประเมินในขั้นตอนที่ 3)

ขั้นตอนที่ 3  การตรวจประเมินในพื้นที่ปฏิบัติงาน เพื่อยืนยันผลการตรวจ Application Report

พิจารณาจากผลการประเมินสถานะการเป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) ได้จากการตรวจประเมินในขั้นตอนที่ 1 โดยเป็นคะแนนเฉลี่ยในภาพรวมทั้ง 7 หมวด ประกอบด้วย หมวด 1 การนำองค์การ หมวด 2 การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ หมวด 3 การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หมวด 4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ หมวด 5 การมุ่งเน้นบุคลากร หมวด 6 การมุ่งเน้นระบบปฏิบัติการ และหมวด 7 ผลลัพธ์การดำเนินการ

เกณฑ์การประเมินตัวชี้วัดการประเมินสถานะของหน่วยงานภาครัฐในการเป็นระบบราชการ 4.0 พิจารณาจากความสามารถของจังหวัดในการพัฒนาการดำเนินงานเพื่อยกระดับผลการประเมินสถานะการเป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) โดยมีเป้าหมายให้จังหวัดมีคะแนนผลการประเมินในขั้นตอนที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดีขึ้นเมื่อเทียบกับคะแนนผลการประเมินในขั้นตอนที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 

เกณฑ์การประเมิน : (สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนดค่าเป้าหมาย)

ประเด็นการประเมิน ผลการดำเนินงาน
การประเมินสถานะของหน่วยงานในการเป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) 389.76 (คะแนน)